น้อยคนที่รู้ "นีล อาร์มสตรอง" มาไทย เพราะมี นร. เขียนจดหมายชวนมาเที่ยวนิทรรศการอวกาศที่โรงเรียน

คอมเมนต์:

น้อยคนที่รู้ "นีล อาร์มสตรอง" มาไทย เพราะมี นร. เขียนจดหมายชวนมาเที่ยวนิทรรศการอวกาศที่โรงเรียน

    “นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” ประโยคอมตะนี้เป็นของ ‘นีล อาร์มสตรอง’ นักบินอวกาศคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ พวกเขากลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยในวันที่ 24 กรกฎาคม 1969 หรือวันนี้เมื่อ 49 ปีที่แล้ว… 

    ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นีล อาร์มสตรอง, เอ็ดวิน บัซ อัลดริน และ ไมเคิล คอลลินส์ กลายเป็นปฐมภูมิครั้งสำคัญที่บุกเบิกวงการอวกาศ กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก 

 

Sponsored Ad

 

    แน่นอน, นีล อาร์มสตรอง ในฐานะผู้บัญชาการยานอวกาศอะพอลโล 11 ได้รับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล และเป็นบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการต่อวิทยาการของโลกสมัยใหม่

    คุณจะเชื่อหรือไม่ หากเราบอกว่านักบินอวกาศผู้พิชิตดวงจันทร์…เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพราะมีเด็กนักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งเขียนจดหมายเชิญให้มาร่วมงานสัปดาห์อวกาศที่โรงเรียนสิรินธร อ.เมือง จ.สุรินทร์! 

    นีล อาร์มสตรอง พูดคุยกับ 'อรนุช ภาชื่น' หนึ่งในนักเรียนที่เขียนจดหมายถึงนักบินอวกาศอะพอลโล 11

 

Sponsored Ad

 

    นีล อาร์มสตรอง เคยมาประเทศไทย 2 ครั้ง

    โดยทางเว็บไซต์ Rabbit Today เปิดเผยข้อมูลหลังจากโทรสอบถามทางโรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์ ถึงประเด็นดังกล่าว และได้รับคำยืนยันว่า ทีมนักบินอวกาศของโครงการอะพอลโล 11 เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยจริง โดยเฉพาะ ‘นีล อาร์มสตรอง’ ที่มาถึง 2 ครั้ง 

    ครั้งแรกนักบินอวกาศทั้ง 3 คน มาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนตุลาคม 1969 (พ.ศ. 2512) โดยมีคณะรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจรให้การต้อนรับ และนักบินอวกาศได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อรับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ตริตรากรณ์ช้างเผือก

 

Sponsored Ad

 

    พรเพ็ญ อินทร์ทอง (นามสกุลเดิม เพียรชอบ) และเพื่อนนักเรียนโรงเรียนสิรินธร ได้รับเชิญไปมอบของที่ระลึกให้นักบินอวกาศ ต่อหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 

Sponsored Ad

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมต้อนรับทีมนักบินอวกาศ 

    ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคมปีเดียวกัน นีล อาร์มสตรอง เดินทางมาประเทศไทยอีกครั้ง และได้มุ่งหน้าไปยัง จ.สุรินทร์ เพื่อทักทายคณะครูและนักเรียนโรงเรียนสิรินธรตามคำเชิญในจดหมายของเด็กๆ

จดหมายธรรมดาของเด็กๆ ถึงผู้พิชิตดวงจันทร์

    พรเพ็ญ อินทร์ทอง อดีตอาจารย์ของโรงเรียนสิรินธร (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว) หนึ่งในนักเรียนที่แต่งตัวเป็นนักบินอวกาศไปรับนีล อาร์มสตรอง ได้เผยว่า ปีที่ยานอะพอลโล 11 ไปสำรวจดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นข่าวดังมาก เพื่อนๆในชมรมภาษาอังกฤษจึงเขียนจดหมายที่มีเนื้อหาระบุว่า

 

Sponsored Ad

 

  เนื้อหาในจดหมายที่กลุ่มนักเรียนชมรมภาษาอังกฤษโรงเรียนสิรินธร เขียนถึงนีล อาร์มสตรอง และนักบินอวกาศโครงการอะพอลโล 11

    “พวกเราต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับยานอะพอลโล 11 และคิดว่านักบินอวกาศจะเป็นผู้สามารถเล่าให้เราฟังได้ดีที่สุด” พร้อมทั้งชวนมาเที่ยวชมงานนิทรรศการอวกาศของโรงเรียนสิรินธร โดยมี ‘มิสมาร์กาเร็ต’ อาจารย์ชาวอเมริกันเป็นผู้ส่งจดหมายฉบับดังกล่าวถึงสำนักงานข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย (USIS) เพื่อให้เป็นสื่อกลางในการประสานงาน

 

Sponsored Ad

 

    “ครูได้แต่งชุดนักบินอวกาศไปต้อนรับพวกเขาที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คนคือ ยุพา สมถวิล และ ศิริลักษณ์ แสงนิลไม่กี่เดือนต่อมา นีล อาร์มสตรอง ก็มาไทยอีก คราวนี้มาคนเดียวและไปที่โรงเรียนสิรินธรด้วย คนมหาศาลแห่มาต้อนรับ ครูได้มีโอกาสจับมือกับอาร์มสตรองด้วย เขาพูดกับเราว่า ‘Thank You’ ยังจำได้ถึงทุกวันนี้”

คำถามยากจัง ขอเปลี่ยนคำถามได้ไหม

     เด็กนักเรียนเจ้าของจดหมายอีก 1 คน ซึ่งเป็นตัวแทนโรงเรียนเข้าไปถามคำถามนักบินอวกาศ พร้อมเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน คือ อรนุช ภาชื่น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รศ.ดร. อรนุช ภาชื่น อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่มีอายุเกือบครึ่งศตวรรษมาให้ชมและเผยแพร่เพื่อประโยชน์สาธารณะ

Sponsored Ad

    แม้ทุกภาพจะเก่า ทว่ายังถูกเก็บไว้อย่างดี ราวกับเป็นเครื่องหมายย้ำเตือนถึงความทรงจำอันทรงคุณค่าที่ไม่สามารถเลือนหายไปตามกาลเวลา

    คำถามเชิงวิทยาศาสตร์ข้อที่ 2 คือคำถามที่ อรนุช ภาชื่น ได้รับมอบหมายให้ถามนักบินอวกาศ เอ็ดวิน บัซ อัลดริน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

    “ตอนไปต้อนรับนักบินอวกาศครั้งแรก ได้มีโอกาสเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 9 ด้วยค่ะ อรนุชเป็นตัวแทนไปถามคำถามนักบินอวกาศ ทางสมาคมวิทยาศาสตร์เตรียมคำถามไว้ให้ มีเด็กมาจากหลายโรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมปลายจากโรงเรียนจิตรลดา เตรียมอุดมศึกษา ฯลฯ เราเด็กสุด แถมมาจากโรงเรียนต่างจังหวัด

    “อรนุชได้คำถามที่ต้องถามนักบินฯ ชื่อ เอ็ดวิน อัลดริน เรายังเป็นเด็ก อ่านคำถามแล้วไม่เข้าใจเพราะเป็นคำถามเชิงวิทยาศาสตร์ เลยขอเปลี่ยนคำถาม ทางผู้ใหญ่ก็อนุญาต แต่ที่น่าเสียดายคือจำไม่ได้ว่าถามเขาว่าอะไร เพราะเราก็ยังเด็กและอยู่ท่ามกลางคนสำคัญจึงตื่นเต้นเป็นธรรมดา คิดว่าน่าจะถามเกี่ยวกับความรู้สึกของนักบินฯ นะคะ 

    “พอถามเสร็จเราก็ตกใจกลัว สั่นไปหมดไม่รู้จะทำอย่างไร แล้วได้เห็นไปมองพระพักตร์ของรัชกาลที่ 9 พอดี เราเห็นท่านแย้มพระสรวลให้ เรานี่โอ้โหโล่งใจมากๆ ตอนหลังมีผู้ใหญ่มาชมว่าอรนุชถามคำถามดี แต่ปัญหาคือดิฉันเองจำไม่ได้ว่าถามว่าอะไร” 

หลักฐานอารมณ์ขันของนีล อาร์มสตรอง

    เมื่อครั้งที่ ‘นีล อาร์มสตรอง’ มาประเทศไทยครั้งที่ 2 นั้น ได้แวะไปโรงเรียนสิรินธร และขึ้นเวทีเพื่อพูดทักทายนักเรียน รศ.ดร. อรนุช ภาชื่น เล่าให้ฟังว่า อาร์มสตรองลื่นระหว่างที่กำลังเดินลงจากเวที เขาจึงพูดติดตลกว่า “ตอนผมเดินบนดวงจันทร์ไม่เคยลื่นแบบนี้เลยนะ” 

    นอกจากนี้ คณะครู นักเรียน และชาวสุรินทร์ แห่นำพวงมาลัยมาคล้องคอให้กำลังใจอาร์มสตรองอย่างล้นหลาม จนเขานำความประทับใจไปเขียนในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนสิรินธรว่า “ข้าพเจ้าอยากที่จะมีคอให้ยาวเหมือนคอยีราฟ เพื่อจะได้สวมใส่พวงมาลัยเหล่านี้ให้หมด”

    ขณะที่ทาง รศ.ดร. อรนุช ภาชื่น เผยว่า ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ของ นีล อาร์มสตรอง กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ตนเองไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค เมื่อมีเป้าหมายก็ต้องพยายามไปถึงให้จนได้ เหมือนการขึ้นไปบนดวงจันทร์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่เกินความพยายามของมนุษย์”

    นีล อาร์มสตรอง แวะมาเยี่ยมโรงเรียนสิรินธรในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2512 โดยมี 'มิสมาร์กาเร็ต' และคณะครูให้การต้อนรับ

ชาวสุรินทร์มอบ ช้างไม้แกะสลัก เป็นของที่ระลึกให้ นีล อาร์มสตรอง

ข้อความที่ นีล อาร์มสตรอง เขียนในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนสิรินธร

เทคโนโลยีอวกาศอยู่รอบตัวเรา

    หากใครที่สนใจเรื่องอวกาศคงรู้จัก SPACETH.CO เว็บไซต์ข่าวสารด้านอวกาศฉบับภาษาไทย ซึ่งได้รับรางวัล Best New Blog ในงาน Thailand Best Blog Award 2017 ที่น่าสนใจคือเหล่าแอดมินล้วนเป็นเยาวชนรุ่นใหม่อายุประมาณ 13-20 ปี 

    กรทอง วิริยะเศวตกุล หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งมองว่า จริงๆ แล้วอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะอยู่คู่สังคมไทยมานาน โดยเฉพาะดาราศาสตร์ที่คู่กับโหราศาสตร์อย่างปฎิเสธไม่ได้ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และช่วงที่รัชกาลที่ 4 ทรงไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ 

    “ปัจจุบันนี้ ชีวิตประจำวันของเราก็เกี่ยวโยงกับเรื่องของอวกาศแบบไม่รู้ตัว เช่น กล้องโทรศัพท์มือถือ แลปท็อป และหูฟังไร้สาย ล้วนเป็นผลพลอยได้จากเทคโนโลยีอวกาศทั้งนั้น อวกาศคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเลย ส่วนแวดวงอวกาศไทยก็กำลังตื่นตัวครับ อย่างเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ปล่อยจรวด Blue Origin ซึ่งมีอุปกรณ์ทดลองของไทยเดินทางไปด้วยนะครับ”

นักเรียนร่วมแต่งชุดอวกาศและเดินพาเหรดต้อนรับการมาเยือนของนีล อาร์มสตรอง

ความหวัง ความฝัน ของวงการอวกาศในไทย

    ในประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอวกาศเช่นกัน โดยทาง ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาด้านอวกาศว่า 

    "ขณะนี้เรากำลังผลักดัน ‘พรบ. ร่างกิจการอวกาศ’ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการร่างความคิดเห็น มีการเชิญเด็กรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย อย่างกลุ่ม SPACETH.CO ก็เป็นตัวอย่างเยาวชนที่กระตือรือร้นด้านนี้ ต่อไปในอนาคตคนไทยจะมีส่วนร่วมในการส่งเครื่องมือทดลองสู่ห้วงอวกาศมากขึ้น โดยมี GISTDA ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ช่วยควบคุมมาตรฐานและประสานงานเพื่อทำให้ความหวังและความฝันของคนไทยและเยาวชนไทยเป็นจริง

    “ปัจจุบันมีคนไทยไปทำงานเป็นวิศวกรให้นาซ่าเยอะนะครับ ทำหน้าที่ช่วยพัฒนาเครื่องมือเทคโนโลยี ซึ่งทางนั้นก็มีโครงการต่างๆ มากมาย เช่น ‘Mars One’ รับสมัครคนไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เขามองว่ายิ่งมีโครงการหลากหลาย ก็ยิ่งดึงคนที่แตกต่างกันมาร่วมงาน ปัญหายิ่งเยอะเท่าไรยิ่งดี เพราะจะได้เตรียมการทดลองหลายรูปแบบ 

    "ในแวดวงอวกาศประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ผมมองว่าปัญหาคือโอกาสให้เราพัฒนาครับ"

นีล อาร์มสตรอง ถ่ายภาพร่วมกับเด็กนักเรียนที่แต่งชุดนักบินอวกาศและคณะครูอาจารย์โรงเรียนสิรินธร

ชาวสุรินทร์มาต้อนรีบ นีล อาร์มสตรอง กันอย่างล้นหลาม

คนไทยเคยสมัครร่วมโครงการ Mars One 

    ‘Mars One’ สร้างเสียงฮือฮาอย่างมาก เพราะเป็นโครงการคัดเลือกมนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานถาวรบนดาวอังคาร ประเภทการเดินทางแบบ ‘ตั๋วเที่ยวเดียว’! แต่เชื่อไหมว่ามีผู้สมัครจากทั่วโลกมากกว่า 200,000 คน หนึ่งในนั้นมีคนไทยสมัครร่วมโครงการด้วย ซึ่งก็คือ สิรภพ แก้วทิพรัตน์

    สิรภพบอกว่า มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์อวกาศอยู่แล้ว ‘นักบินอวกาศ’ คือหนึ่งความฝันในวัยเด็ก จึงลองสมัครโครงการ Mars One ซึ่งมีขั้นตอนคัดเลือกหลายขั้นตอน เริ่มจากการกรอกประวัติ ตอบแบบสอบถาม 'ทำไมคุณถึงสมควรได้ไปดาวอังคาร' รวมไปถึงคำถามวัดทัศนคติและอีกมากมาย

  งานสัปดาห์อวกาศของโรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์ ใน พ.ศ. 2512

    แม้สุดท้ายจะไม่ได้รับการคัดเลือก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงว่าคนไทยเองก็มีความสนใจและหลงใหลด้านอวกาศเช่นกัน เขามองว่าถ้าอยากให้วงการอวกาศในไทยได้รับความสนใจ ทุกฝ่ายต้องเริ่ม 'ให้คุณค่า' ก่อน เพราะบุคลากรในแวดวงเหล่านี้คือ กลุ่มคนที่ทุ่มเทความสามารถเพื่อขับเคลื่อนวิทยาการโลก ซึ่งในบ้านเราอาจไม่ค่อยมีพื้นที่สื่อให้กับพวกเขามากนัก

    "ผมอยากให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับความสนใจเช่นเดียวกับร็อกสตาร์"

    นี่คือเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ที่ทุกคนไม่อาจเพิกเฉย

    แต่เชื่อว่า…ตราบใดที่มนุษย์ยังแหงนหน้ามองท้องฟ้า และสงสัยว่าข้างบนนั้นเป็นอย่างไร วิทยาศาสตร์อวกาศก็ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน

    ชุดภาพประวัติศาสตร์ที่ รศ.ดร. อรนุช ภาชื่น เก็บรักษาไว้เป็นเวลานานเกือบ 50 ปี และนำมาเผยแพร่ออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Rabbit Today เป็นที่แรก

    ขอบคุณภาพจาก: รศ.ดร. อรนุช ภาชื่น, อ.พรเพ็ญ อินทร์ทอง, อ.สายชล ศรีวิเศษ และโรงเรียนสิรินธร จ.สุรินทร์ ที่ให้ความกรุณามอบภาพถ่ายประวัติศาสตร์ให้ Rabbit Today เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ

    ภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey ผลงานมาสเตอร์พีซของ สแตนลีย์ คูบริก ในปี 1968 กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ เดวิด โบวี ศิลปินชาวอังกฤษ นำไปแต่งเพลง 'Space Oddity' โดยมีกำหนดปล่อยซิงเกิลอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ก.ค. 1969 ซึ่งเป็นช่วงที่ยาน Apollo 11 กำลังจะเดินทางไปดวงจันทร์ 

    แต่ทาง BBC สั่งระงับการเผยแพร่ ต้องรอจนกว่าทีมนักบินอวกาศของอะพอลโล 11 จะกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย เนื่องจากเนื้อหาเพลงพูดถึง 'ผู้พันทอม' ตัวละครสมมติที่เดินทางไปอวกาศและขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน อีกนัยหนึ่ง Space Oddity คือบทเพลงเสียดสีความล้มเหลวด้านอวกาศของประเทศอังกฤษนั่นเอง  

    นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey ยังเป็นแรงบันดาลใจให้มิวสิกวิดิโอเพลง 'No Surprises' ของ Radiohead วงดนตรีสัญชาติอังกฤษอีกด้วย

ข้อมูลและภาพจาก rabbittoday

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ