ประวัติศาสตร์ที่หลายคนอาจไม่รู้ "พม่าขอญวนเป็นไมตรี" หวังชวนตีไทยกระหนาบสองด้าน

คอมเมนต์:

วันนี้แอดพาไปท่องโลกประวัติศาสตร์ไทยกัน

    วันนี้แอดจะพามาย้อนประวัติศาสตร์กัน เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2366 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 “จอห์น ครอว์เฟิร์ด” (John Crawfurd) ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์นำเรื่องสำคัญมาแจ้งแก่ไทย 

    เรื่องมีอยู่ว่า “พระเจ้าจักกายแมง” กษัตริย์พม่า (อังวะ) แต่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับญวน ในพระราชสาส์นได้ชักชวน “พระเจ้ามินมาง” กษัตริย์ญวน (เวียดนาม) ให้ร่วมกับพม่าทำสงครามสู้รบกับไทย

 

Sponsored Ad

 

พระเจ้าจักกายแมง กษัตริย์พม่า (อังวะ)

    เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ “องโดยหลำ” และ “องทูหับตรึง” ขุนนางชาวญวน ได้ติดต่อกับ “องต๋ากุน” เจ้าเมืองไซง่อนว่า ในดินแดนพม่ามีเกาะรังนกจำนวนมาก ถ้าติดต่อต่อซื้อขายรังนกจากพม่า แล้วนำไปขายต่อให้จีน จะได้กำไรอย่างงาม องต๋ากุนก็เห็นชอบด้วย จึงแต่งตั้งให้ขุนนางทั้งสองไปติดต่อซื้อรังนกที่พม่า ทว่า ในการณ์นี้ องต๋ากุนไม่ได้กราบทูลกษัตริย์เวียดนามให้ทรงทราบ

 

Sponsored Ad

 

(จักรพรรดิมิญ หมั่ง หรือพระเจ้ามินมาง กษัตริย์เวียดนาม)

    เมื่อขุนนางญวนไปถึงเกาะหมาก (ปีนัง) ได้พบพ่อค้าจีนที่มาจากพม่า ทั้งสองจึงพูดอวดอ้างต่าง ๆ นานา จนพ่อค้าจีนเข้าใจว่าเป็นราชทูตเดินทางมาจากญวณ คิดจะเอาหน้า จึงช่วยพาไปส่งให้ถึงกรุงอังวะ

     องเชียงสือ เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. 1887 ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ 

 

Sponsored Ad

 

    แต่แรกพม่าไม่เชื่อว่าขุนนางญวนทั้งสองเป็นราชทูต เพราะไม่ได้อัญเชิญพระราชสาส์นมาด้วย แต่เมื่อสอบถามไล่เลียง จนเข้าใจว่าเป็นราชทูตจริง จึงต้อนรับเป็นอย่างดี พม่ามีความคิดอยากจะยกกองทัพมาตีไทยอีกครั้ง จึงชักชวนญวนให้มาเป็นพันธมิตรเพื่อทำสงครามกระหนาบไทยทั้งสองด้าน ดังนั้น กษัตริย์พม่าจึงแต่งราชทูต อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาถวายกษัตริย์เวียดนาม

    ครั้นเมื่อเรือราชทูตมาทอดอยู่เกาะหมาก เรือพ่อค้าไทยลำหนึ่งเกิดไฟไหม้ จนลุกลามไปยังเรือราชทูตพม่าไหม้ด้วย เก็บได้แต่พระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการบางส่วน จากนั้นราชทูตพม่าจึงโดยสารเรือพ่อค้าอังกฤษไปยังเมืองไซ่ง่อน

 

Sponsored Ad

 

    ในเหตุการณ์ข้างต้นนี้ อังกฤษคงจะได้สำเนาพระราชสาส์นซึ่งเป็นภาษาพม่ามาด้วย เจ้าเมืองเกาะหมาก ซึ่งขึ้นตรงต่ออังกฤษ จึงได้แปลเป็นภาษาอังกฤษส่งไปให้ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษ

    ต่อจากนั้นผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษได้ส่งสำเนามาให้ จอห์น ครอว์เฟิร์ด ที่สิงคโปร์อีกต่อหนึ่ง จอห์น ครอว์เฟิร์ด ซึ่งเคยเดินทางมาที่ไทยทราบดีว่า ที่ไทยไม่มีผู้แปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้ เพราะมีแต่พวกบาทหลวงฝรั่งเศส จึงให้แปลสำเนาพระราชสาส์นฉบับแปลภาษาอังกฤษนั้นให้เป็นภาษาฝรั่งเศส ก่อนที่จะให้บาทหลวงฝรั่งเศสในไทยแปลเป็นภาษาไทยในที่สุด

 

Sponsored Ad

 

    ทางด้านราชทูตพม่า เมื่อเดินทางถึงเมืองไซ่ง่อน องต๋ากุนก็ได้ต้อนรับดูแลอย่างดี แล้วมีหนังสือขึ้นไปยังเมืองเว้ กราบทูลพระเจ้ามินมางว่า พม่าแต่งราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการมาเจริญสัมพันธไมตรี ชักชวนให้ญวนร่วมมือกับพม่าทำสงครามกับไทย พระเจ้ามินมางจึงให้ราชทูตพม่ารออยู่ที่เมืองไซ่ง่อนไปพลางก่อน

 

Sponsored Ad

 

    จากนั้น พระเจ้ามินมางทรงเรียกองต๋ากุนมายังพระราชสำนัก เมื่อได้ประชุมขุนนางเสนาบดีเพื่อปรึกษาหารือกันถึงเรื่อง “พม่าจะขอเปนไมตรีชวนตีเมืองไทย” แล้วนั้น ปรากฏว่าขุนนางฝ่ายองต๋ากุนเห็นว่า ควรรับสัมพันธไมตรีจากพม่า เพราะมีความประสงค์จะตีเอาเมืองพระตะบองมาเป็นของญวณ ขณะที่ขุนนางฝ่าย “องเลโบ” ซึ่งเป็นขุนนางการต่างประเทศของญวณ มีความคิดเห็นว่า ควรจะรักษาสัมพันธไมตรีอันดีกับไทยต่อไป ไม่ควรจะคบหากับพม่า พระเจ้ามินมางทรงเห็นชอบด้วยกับความคิดขององเลโบ จึงทรงไม่ยอมรับราชทูตพม่า และให้มีหนังสือมายังกรุงเทพฯ ว่า

Sponsored Ad

    “…เมื่อ ณ ปี มะแมเบญจศก มีพม่าถือราชสาส์นแลคุมเครื่องราชบรรณาการมาถึงเมืองไซ่ง่อน… ในพระราชสาส์นพม่าว่าหยาบคายเป็นอันมาก ตัดเอาแต่ใจความบอกกราบทูลเจ้าเวียดนาม ว่าแต่ครั้งพระเจ้ากรุงเวียดนามยาลอง ได้จัดให้ราชทูตมาหลายครั้งแล้วหาถึงไม่ ครั้งนี้ได้ยินว่าพระเจ้ากรุงเวียดนามขึ้นครองราชสมบัติใหม่ เมืองพม่ายินดีหาที่สุดมิได้ จึงจัดขุนนางผู้ใหญ่ให้เชิญราชสาส์นมา ขอให้กรุงเวียดนามตัดทางไมตรีกับกรุงเทพฯ เสีย พม่าจะได้ทำศึกกับกรุงพระมหานครศรีอยุธยา แล้วมีรับสั่งพระเจ้าเวียดนามว่า จะคบค้าด้วยพม่าก็จะเสียทางพระราชไมตรีกับกรุงเทพฯ ไป จึงมิให้ทูตขึ้นไปเฝ้า (ที่เมืองเว้) ให้กลับไปเสีย… พระเจ้ากรุงเวียดนามเห็นแก่ทางพระราชไมตรี จึงให้บอกข้อความเข้ามาให้กรุงเทพมหานครทราบ…”


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ภาพสีน้ำมัน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ)

    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “…การที่ญวนไม่ยอมเข้ากับพม่าในครั้งนั้น อาจจะเป็นได้ด้วยเหตุหลายอย่าง มีคำที่ญวนอ้างภายหลังต่อมาว่า เมื่อพระเจ้าเวียดนามยาลองจะสิ้นพระชนม์ ได้มีรับสั่งว่าอย่าให้ลูกหลานคิดร้ายต่อกรุงศรีอยุธยา (หมายถึงกรุงเทพฯ – ผู้เขียน) ด้วยมีพระเดชพระคุณแก่พระเจ้ายาลองในเวลาตกทุกข์ยาก ได้อุปการะอุดหนจนกลับเป็นใหญ่ได้…

    มาครั้งนี้พม่าไปชวนให้ญวนเป็นศัตรูต่อไทย ที่จริงก็ไม่มีความจำเป็นอันใด ที่พระเจ้ามินมางจะต้องบอกเข้ามาให้ไทยทราบ หรือไม่ยอมให้ทูตพม่าเข้าเฝ้า ที่ทำอาจจะเป็นด้วยรักษาทางพระราชไมตรีตามรับสั่งของพระเจ้ายาลองได้…”

    อย่างไรก็ตาม แม้ญวนจะรักษาสัมพันธไมตรีกับไทย ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับพม่าทำสงครามกับไทย แต่ญวนก็ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับไทยในทุกเรื่อง เพราะต่างก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ นั่นคือ ดินแดนประเทศราชอย่างเขมรและลาว ซึ่งญวนถือว่าเป็นเมืองขึ้นของทั้งสองฝ่ายมาแต่โบราณ และญวนก็ไม่ยอมเสียเปรียบไทย โดยคิดขยายอำนาจญวนมายังเขมรและลาวเสมอ จึงเป็นเหตุให้ทำสงครามสู้รบกันในสมัยรัชกาลที่ 3

    นี่จึงตรงกับสำนวนที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร”

ที่มา : silpa-mag

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ