ย้อนศึกบ้านเล็ก บ้านใหญ่ "ชิงสมบัติ 4 พันล้าน" นายพลเสื้อคับ สุดท้ายจบพลิกล็อก!

คอมเมนต์:

ย้อนศึกบ้านเล็ก บ้านใหญ่ "ชิงสมบัติ 4 พันล้าน" นายพลเสื้อคับ สุดท้ายจบพลิกล็อก!

        ทีมข่าวได้ไล่เรียงเรื่องราวอลหม่าน บ้านใหญ่ VS บ้านเล็ก แย่งชิงมรดก 4 พันล้านบาท ของนายพลคนดัง “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานสภารักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) อันเป็นข่าวใหญ่พาดหัวหนังสือพิมพ์ถี่ๆ ในยุคนั้น จนกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งแบบถี่ๆ ในวันนี้ ภายหลังจากที่เกิดวลีฮิตติดเทรนด์อันดับหนึ่ง #หนักแผ่นดิน...

        ย้อนกลับไปปี 2544 ผู้คนในสังคมตะลึงงันกันไปทั่วที่จู่ๆ ภรรยาคนแรกของ “บิ๊กจ๊อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธาน รสช. ออกมาฟ้องร้องขอความเป็นธรรมที่ควรจะได้รับจากสมบัติในกองมรดก ที่มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 3,916 ล้านบาท

 

Sponsored Ad

 

พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธาน รสช

.

        งานนี้ถ้าคนในครอบครัวไม่ออกมาฟ้องร้องแย่งชิงทรัพย์สมบัติกัน ผู้คนในสังคมคงไม่มีโอกาสรับรู้ว่า นายพลเสื้อคับเจ้าของสโลแกน “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ซึ่งมีบุคลิกเป็น “ทหารอาชีพ” ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มีท่าทีแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว จะมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาลขนาดนี้

        หากย้อนกลับไปในยุคที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลยุคนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลบุฟเฟต์คาบิเนต มีพฤติกรรมคอร์รัปชัน โกงกินกันอย่างมูมมาม

 

Sponsored Ad

 

        23 กุมภาพันธ์ 2534 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้น ได้นำคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ภายใต้ชื่อ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ใช้ปืนจี้จับ พล.อ.ชาติชาย ยึดอำนาจ โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

        ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ในยุคนั้น ก็ให้การขานรับ เพราะเบื่อหน่ายพฤติกรรมของนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันกันอย่างโจ๋งครึ่ม และหลังจากที่ บิ๊กจ๊อด เกษียณอายุราชการ เขาก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ เปิดร้านขายอาหารไทยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2542

 

Sponsored Ad

 

        กระทั่งต่อมา เกิดศึกฟ้องร้องแย่งชิงมรดกของบิ๊กจ๊อด จึงทำให้เรื่องแดงขึ้นมา ภายหลังจากที่ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ ภรรยาที่ 1 และบุตรชายสองคน(พ.ท.อภิรัชต์ และ พ.ต.ณัฐพร คงสมพงษ์) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาคนสุดท้าย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลแบ่งทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร ซึ่งรับราชการมานาน และมีตำแหน่งสำคัญเป็นถึงประธาน รสช. มีอำนาจบารมี จนกระทั่งบุคคลต่างสนับสนุน จนทำให้ พล.อ.สุนทร มีเงินเกือบ 4,000 ล้านบาท

 

Sponsored Ad

 

        พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ประธาน รสช.(ขณะนั้น) จัดเลี้ยงฉลองวันเกิดให้ ภรรยา พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร ที่บ้าน เสริมสุข ประชาชื่น

        จากพินัยกรรมของ พล.อ.สุนทร ได้จัดทำขึ้น 2 ฉบับ ในช่วงเวลาต่างกัน โดยฉบับที่เขียนด้วยลายมือ ระบุวันที่ 21 ก.ค.2536 ว่า เมื่อเสียชีวิตไปแล้วให้ยกทรัพย์สินที่ทำธุรกิจร่วมกับนางอัมพาพันธ์ เป็นกรรมสิทธิ์ของนางอัมพาพันธ์เพียงผู้เดียว

        ส่วนฉบับตีพิมพ์ดีด ระบุทำพินัยกรรม วันที่ 25 พ.ย.2536 ให้แบ่งเงินสดหรือเงินในบัญชีธนาคารให้นางอัมพาพันธ์ พ.ต.อ.อภิรัชด์ คงสมพงษ์ และ ร.ท.ณัฐพร คงสมพงษ์ ในสัดส่วน 50:25:25 พินัยกรรมนี้จึงนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่าง พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร กับ นางอัมพาพันธ์ เนื่องจากเนื้อหาในพินัยกรรมไม่มีการอ้างถึงการยกกรรมสิทธิ์แก่ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร

 

Sponsored Ad

 

        พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธาน รสช. ตัดเค้กฉลองวันเกิด และให้ความเห็นทางการเมือง ไม่ยืนยันว่าไทยจะไม่มีปฏิวัติ

        เมื่อพิจารณาจากอายุราชการของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ที่เริ่มอายุราชการเมื่อปี พ.ศ.2497 และเกษียณจากราชการเมื่อปี พ.ศ.2534 รวมเวลา 37 ปี ในราชการ หากมีทรัพย์สินมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านบาท จะต้องสะสมเงินโดยเฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคประชาชนในยุคนั้น พูดถึงและตั้งข้อสงสัยเป็นวงกว้าง...

 

Sponsored Ad

 

        พ.อ.หญิง คุณหญิงอรชร ให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวในกรณีให้คุณอัมพาพันธ์ ให้เลิกใช้นามสกุล "คงสมพงษ์" ณ ที่ทำการสมาคมแม่บ้านทหารบกสูงสุด

        แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องความขัดแย้งของคนในครอบครัวของ อดีตประธาน รสช. ก็ตาม แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ขึ้นมา สาธารณชนต่างก็ให้ความสนใจ พร้อมกับตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวว่า เป็นมาอย่างไร?

Sponsored Ad

        หากพิจารณาคำร้องคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดกที่มีการระบุว่า อดีตประธาน รสช.ได้มอบให้ นางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร เป็นผู้จัดการ แต่ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ เป็นผู้ร้องคัดค้าน โดยมีการบรรยายบางช่วงบางตอนไว้ในคำร้องว่า ทรัพย์สินที่ได้มาเป็นเพราะอำนาจบารมีของอดีตประธาน รสช.

        ยุ้ย - อัมพาพันธ์ บ้านหลังที่ 2 เปิดใจให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐ เมื่อปี 2544

        ในจุดนี้ ยิ่งทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยมากยิ่งขึ้นไปอีก จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวจากประชาชนเรียกร้องให้ตรวจสอบว่าทรัพย์สินเหล่านั้น ได้มาโดยชอบหรือไม่

        นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ว.นครราชสีมา บุตรชาย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูก พล.อ.สุนทร นำคณะ รสช.ปฏิวัติ กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่เห็นบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร มีมากมายขนาดนี้ เชื่อว่าน่าจะได้มาช่วงยึดอำนาจ มากกว่าช่วงที่เป็นนายทหาร เพราะฉะนั้นควรจะมีการตรวจสอบ

        ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) กลับบ่ายเบี่ยงว่า เป็นเรื่องครอบครัวและขอเวลาดูว่า จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งทำให้สังคมเกิดความกังขาในนโยบายเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันที่เป็น 1 ใน 11 วาระแห่งชาติ ว่าจะทำตามนโยบาย เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ และตั้งข้อสงสัยไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีผู้นี้กับอดีตประธาน รสช. ว่ามีบุญคุณแต่หนหลังหรือไม่

        งานวันเกิดครบ 4 รอบ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บรรยากาศชื่นมื่นเป็นกันเอง

        ในช่วงที่มีการเรียกร้องตรวจสอบทรัพย์สินนั้น ภาพความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองก็ค่อยๆ ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ และยังระบุว่า พล.อ.สุนทร เป็นคนสำคัญที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับสัมปทานดาวเทียมไทคม ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นประธานบริษัทเครือชินวัตรอยู่ และมีการระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เคยกล่าวเอาไว้เมื่อครั้งที่ดาวเทียมไทยคมถูกปล่อยขึ้นสู่ฟ้าว่า “ถ้าไม่มีมี พล.อ.สุนทร ก็คงไม่มีวันนี้” (อ่านข่าว : มือกุมเป้า! ย้อนวันวานอ่อนหวาน ทักษิณ-บิ๊กจ๊อด ลั่นมีวันนี้เพราะพี่ชาย)

        ท้ายที่สุด เมื่อกระแสสังคมกดดันหนักขึ้น รัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา แต่ก็เป็นเพียงแค่การตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันในวงกว้างเท่านั้น

        สุดท้ายแล้ว ในช่วงปลายปี 2545 ศึกชิงมรดก “บิ๊กจ๊อด” อดีตประธาน รสช. ก็ปิดฉากลง หลังศาลใช้เวลาไกล่เกลี่ย 3 ชั่วโมงเศษ จนตกลงกันได้ด้วยดี โดยตั้งให้ นางอัมพาพันธ์ ภรรยาคนสุดท้าย เป็นผู้จัดการมรดกกองโตคนเดียว อีกทั้ง นางอัมพาพันธ์ ยังเซ็นเช็ค 21 ล้านบาท ให้ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร ภรรยาคนแรก ต่อหน้าศาล และ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร ก็ไม่ติดใจดำเนินคดีอีกต่อไป ท่ามกลางบรรยาศชื่นมื่น มีการจับไม้จับมือกัน และนั่งใกล้ชิดกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ดี ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบ และคืนเงินค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์

        ขณะที่ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร กล่าวสั้นๆ กับสื่อมวลชนที่ไปดักรอทำข่าวว่า "เรื่องนี้จบเรียบร้อยแล้ว ถือว่าไม่มีใครแพ้ชนะ"

        อย่างไรก็ดี เรื่องนี้วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร และจากการตรวจสอบพบว่ารายการทรัพย์สินที่เป็นรูปธรรมของ พล.อ.สุนทร มีจำนวนไม่มาก และไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินเกินฐานะความเป็นอยู่ หรือเกินกว่าตำแหน่งหน้าที่ในราชการ คณะกรรมาธิการฯ จึงมีข้อสันนิษฐานพอเชื่อได้ว่า พล.อ.สุนทร มิได้มีทรัพย์สินร่ำรวยเกินฐานะหรือผิดปกติแต่อย่างใด.

ข้อมูลและภาพจาก thairath

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ