อาจารย์จุฬาฯเล่าความประทับใจต่อ "สมเด็จพระจักรพรรดิ" และ รัชทายาท 2 พระองค์

คอมเมนต์:

อาจารย์จุฬาฯเล่าความประทับใจต่อ "สมเด็จพระจักรพรรดิ" และ รัชทายาท 2 พระองค์

    ในวโรกาส สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะของญี่ปุ่นทรงสละราชบัลลังก์ในวันที่ 30 เม.ย. 2562 และ เจ้าชายนะรุฮิโตะ เสด็จขึ้นครองราชย์ ในวันที่ 1 พ.ค. ผศ. ดร. ชมนาด ศีติสาร ผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่น ของจุฬาฯ เล่าถึงความประทับใจของสามัญชน ที่มีโอกาสได้ถวายงานกษัตริย์ญี่ปุ่นองค์ปัจจุบันและอนาคต

    “ดิฉันได้สัมผัสพระหัตถ์สมเด็จพระจักรพรรดินี ท่านใจดีมาก สบตาตลอด ตรัสถามว่าดิฉันเป็นอย่างไรบ้าง” หัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงความทรงจำที่ล้ำค่าที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

 

Sponsored Ad

 

    เธอได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เมื่อ ปี 2549 ในวโรกาสร่วมพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

    นอกจากเข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิแล้ว อาจารย์ผู้มีงานเขียนและวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรม-สังคมญี่ปุ่นมากมาย ยังเคยร่วมโต๊ะเสวยกับเจ้าชายนะรุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร และถวายงานแด่เจ้าชายอะกิชิโนะ รัชทายาทลำดับ 2

 

Sponsored Ad

 

    “เราบอกว่า มีโอกาสได้แปลหนังสือพระราชโอรสด้วยนะ” เธอ เล่าย้อนบทสนทนากับสมเด็จพระจักรพรรดินี “ท่านหันกลับมาอยากคุยต่อ และเป็นอย่างนี้ทุกพระองค์ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่มองผ่าน ไม่อยากให้อีกฝ่ายหนึ่งดูไม่ดี”

ทั้งหมดเริ่มจาก “ไก่ป่าสู่ไก่บ้าน”

 

Sponsored Ad

 

    จุดเริ่มต้นของประสบการณ์ทรงคุณค่าเหล่านี้ มาจากหนังสือที่เจ้าชายอะกิชิโนะทรงนิพนธ์ขึ้น เรื่อง ไก่ป่า-ไก่บ้าน และมิติทางวัฒนธรรม ที่อาจารย์คนหนึ่งที่คณะอักษรศาสตร์ นำมาให้แปลเป็นภาษาไทย

    ผศ. ดร. ชมนาด ศึกษาจนพบว่าเป็นโครงการวิจัยร่วมในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับเจ้าชายอะกิชิโนะ ภายใต้ชื่อ โครงการวิจัยพหุสัมพันธ์คนกับไก่ เธอจึงรับงานแปล ก่อนผันตัวเป็นนักวิจัยในโครงการด้วย

    จนเมื่อปี 2548 เจ้าชายอะกิชิโนะเสด็จเยือนไทย เพื่อนำทีมวิจัย “เหตุใดและอย่างไรไก่ป่าจึงวิวัฒนาการมาเป็นไก่บ้าน” ใน จ. เชียงราย ชมนาดจึงถวายงานเป็นล่ามแปลภาษาประจำพระองค์

 

Sponsored Ad

 

    “ท่านเป็นคนจริงใจ เรารู้เลยว่าการเป็นราชวงศ์คืออาชีพ ที่ต้องต้อนรับผู้คนตลอดเวลา” แต่ “สิ่งที่ออกมาจากคำพูด สีหน้าท่าทาง ไม่ใช่ทำตามเคยชิน แต่มาจากใจ”

“ชมนาดซัง”

    พสกนิกรญี่ปุ่นมีภาพจำพระราชโอรสองค์กลาง เป็น “หนุ่มเจ้าสำราญ” จากพระจริยวัตรและฉลองพระองค์ ที่นำแฟชัน แต่ในสายตาชมนาด พระองค์ทรงเหมือนสมเด็จพระจักรพรรดิ คือ ใส่ใจผู้อื่นมาก เธอเล่าถึงประสบการณ์ที่ไปร่วมการประชุมวิชาการที่ญี่ปุ่น ซึ่งเจ้าชายอากิชิโนะเสด็จด้วย

เจ้าชายอะกิชิโนะและพระชายา เสด็จพาบุตรชาย เจ้าชายฮิซาฮิโตะ เข้าโรงเรียนมัธยมต้น

 

Sponsored Ad

 

    “เราก็เดินต๊อกแต๊กไป รู้สึกมีรถแล่นตามมาแล้วได้ยินเสียงคนเรียก หันไปก็ตกใจ ท่านประทับและลดกระจก เรียก ชมนาดซัง ชมนาดซัง ท่านจำชื่อคนไทยเก่งมาก”

    วันนั้น ชมนาดตระหนักว่า เชื้อพระวงศ์ญี่ปุ่นเสด็จก่อนเวลางานทุกพระองค์

 

Sponsored Ad

 

    อีกคุณลักษณะที่ชมนาดชื่นชมเจ้าชายอะกิชิโนะ คือ ความถ่อมตน ไม่ได้วางตนเหนือคนทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอสัมผัสได้จากเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ของญี่ปุ่น

    “ท่านทำหน้าที่ด้วยความขอบคุณ ทำด้วยหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศต่อประชาชน ใช้เงินอย่างประหยัด มัธยัสถ์… ไม่ได้ซื้อของ ชอปปิง เพราะต้องระวังการใช้เงิน เนื่องจากเป็นภาษีของประชาชน” เธอย้อนรำลึกถึงความประทับใจที่พบขณะถวายงานเจ้าชายอะกิชิโนะในไทย


สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงให้มาช่วย

    ในโอกาสครบ 125 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและญี่ปุ่น เมื่อปี 2555 เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นเสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และเข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 9 ในฐานะแขกของรัฐบาล

Sponsored Ad

    ผศ. ดร. ชมนาดได้ร่วมโต๊ะพระกระยาหารค่ำพระราชทาน ตามคำเชิญของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ


    การเดินทางเยือนไทยเมื่อปี 2555 เป็นสมัยของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

    “สมเด็จพระเทพฯ โปรดให้เราเข้าเฝ้า มาช่วยรับเสด็จ” แต่เธอยอมรับว่า ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก “ทั้ง 2 พระองค์รับสั่งภาษาอังกฤษกันคล่องแคล่ว”

    หากใช้ภาษาง่าย ๆ ชมนาดรู้สึกว่ามกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น “เป็นคนใจดี ยิ้มตลอดเวลา เป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ สมเด็จพระเทพฯ ตรัสคุยกันสนิทสนม หัวเราะกันเหมือนเป็นเพื่อนกัน มากกว่าแขก”

ผลัดแผ่นดิน

    วันที่ 1 พ.ค. 62 ญี่ปุ่นเปลี่ยนรัชสมัย ตามสมเด็จพระจักรพรรดิที่เปลี่ยนไป จากอะกิฮิโตะ เป็นนารุฮิโตะ จากยุคเฮเซ สู่เรวะ แต่ด้วยประสบการณ์ 15 ปีในญี่ปุ่น และการได้พูดคุยกับคนหนุ่มสาว ชมนาดสรุปว่า “คนญี่ปุ่นไม่รู้สึกอะไร” กับการผลัดแผ่นดิน

นับแต่วันที่ 1 พ.ค. 62 เป็นต้นไป ญี่ปุ่นจะเข้าสู่รัชสมัย “เรวะ”

    “บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำ ผลกระทบต่อประชาชนจริง ๆ คือชื่อปีจะเปลี่ยน ชื่อรัชสมัยเปลี่ยนมากกว่า”

    แม้ราชวงศ์ญี่ปุ่นอยู่เหนือการเมือง แต่ไม่ใช่อยู่นอกความสนใจของสังคม สมัยที่อยู่ในญี่ปุ่น ชมนาดและแม่บ้านแดนอาทิตย์อุทัยอีกมาก ติดตามรายการโทรทัศน์ยามบ่าย ที่นำพระกรณียกิจของราชวงศ์ญี่ปุ่นแต่ละพระองค์มารายงาน โดยเฉพาะช่วงนั้น มกุฎราชกุมารเสกสมรสกับพระชายา ที่เป็นสามัญชน เจ้าหญิงมาซาโกะ จนเกิดสิ่งที่เรียกตามศัพท์สมัยใหม่ว่า “ติ่งราชวงศ์”

    “พวกแม่บ้านตามแฟชันของเจ้า ดูว่าแต่งกายยังไง มีหนังสือรวมภาพถ่ายเจ้าหญิง พอรายงานข่าวว่า วันนี้ มีพระกรณียกิจที่ไหน บางคนจะติดตามไปรอรับเสด็จ ถ่ายรูป”

    หากเป็นคนรุ่นใหม่ จะชอบติดตาม พระธิดาของเจ้าชายอะกิชิโนะ คือ เจ้าหญิงมะโกะ และเจ้าหญิงคะโกะ เพราะมีพระพักตร์สวยน่ารัก

เจ้าหญิงมาโกะ (ซ้าย) และเจ้าหญิงคาโกะ (ขวา) พระธิดาในเจ้าชายอะกิชิโนะ

วิจารณ์ใช้งบแผ่นดิน

    เจ้าชายอากิชิโนะ รัชทายาทลำดับที่ 2 ทรงมีพระดำรัสเมื่อปลายปีที่แล้ว ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมที่จะใช้งบประมาณแผ่นดินสำหรับพีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับพิธีบรมราชาภิเษกของพระเชษฐา มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ

    “ข้าพเจ้าสงสัยว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้เงินรัฐจัดงานพิธีที่มีความเป็นศาสนาสูงมาก ๆ” และตรัสอีกว่าพระองค์ได้ทรงแสดงความไม่เห็นด้วยไปยังผู้อำนวยการสำนักพระราชวังญี่ปุ่นแต่ “เขาไม่ฟังข้าพเจ้า”

    ชมนาดมีโอกาสเข้าเฝ้า สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (ซ้าย), มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ (กลาง), เจ้าชายอะกิชิโนะ (ขวา) Getty Images 

    เจ้าชายอะกิชิโนะทรงมีพระดำรัสในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าการใช้เงินรัฐสำหรับพิธีบรมราชาภิเษกขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า รัฐและศาสนาควรแยกออกจากกัน พิธีดังกล่าวเรียกว่า “ไดโจไซ” ซึ่งจะจัดขึ้นเดือน พ.ย. 2562

    การมีพระดำรัสในที่สาธารณะของพระองค์ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นกำหนดห้ามไม่ให้ฝ่ายราชวงค์เข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง

    แหล่งข่าวในรัฐบาลญี่ปุ่นบอกกับสำนักข่าวเกียวโดว่า หากความคิดเห็นของพระองค์ถือเป็นการวิจารณ์รัฐบาล นั่นก็อาจถือว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญได้

    เจ้าชายอากิชิโนะจะทรงดำรงอิสริยยศมกุฎราชกุมารหลังพิธีบรมราชาภิเษกพระเชษฐา เจ้าชายนารุฮิโตะ ในวันที่ 1 พ.ค. ปีหน้า โดยจะมีการจัดพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่อย ๆ ไปจนถึงพิธี “ไดโจไซ” ในเดือน พ.ย.

    คนญี่ปุ่นที่ ผศ.ดร.ชมนาดได้พูดคุยด้วย ไม่แสดงการต่อต้านการสละราชสมบัติ แต่ไม่ใช่ว่า พสกนิกรไม่ใส่ใจ เพราะบทบาทของสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นเด่นชัดมาก ในยามญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติ

    รัชสมัยเฮเซ ของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ที่เริ่มเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2532 ญี่ปุ่นเผชิญกับแผ่นดินไหวร้ายแรงมาแล้วหลายครั้ง อาทิ แผ่นดินไหวโกเบ ปี 2538 มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คน และเหตุแผ่นดินไหว-สึนามิ เมื่อปี 2554 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 13,000 คน เป็นต้น

    ในช่วงเวลาแห่งความเศร้าโศกนี้เองที่ “จักรดิพรรดิสำคัญต่อคนญี่ปุ่นมาก” ในฐานะ “ขวัญกำลังใจ”

    “ภาพสมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จเยี่ยมผู้ประสบภัยในฟุกุชิมะ ทั้งที่รัฐบาลห้าม เพราะยังไม่ปลอดภัย ท่านเสด็จลงไปด้วยตนเอง ไม่ได้มองจากในรถ แต่ทรงนั่งกับพื้น จับมือ มองตาพสกนิกร” เธอเล่าถึงภาพการเสด็จเยี่ยมผู้ประสบภัยสึนามิของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เมื่อปี 2554

“ภาพที่ออกมา คนญี่ปุ่นผ่อนคลายลง ได้รับการปลอบประโลมโดยที่เขาไม่รู้ตัว”

    ผศ. ดร. ชมนาดเชื่อว่า ลึก ๆ แล้ว คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญและเคารพนับถือสถาบันกษัตริย์อย่างมาก ไม่ใช่เพราะเลือดรักชาติ แต่ด้วยพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนที่ทรงทำ “จนพสกนิกรคุ้นตา”

    “ทรงคำนึงถึงผู้อื่นก่อน และพยายามยิ่งยวดไม่ให้ใครต้องเดือดร้อน” ผศ.ดร. ชมนาด สรุปถึงความประทับใจต่อสามพระองค์ที่ได้เข้าเฝ้ามา

ข้อมูลจาก khaosod

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ